ฝนตกหนักราวฟ้ารั่ว ลมพายุกระโชกแรงจนน้ำสาดเปียกห้องนอนเกสต์เฮ้าส์บนดอนคอน เมืองโขง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ส่งผลให้เราต้องเปลี่ยนแผนนอนเฝ...
ฝนตกหนักราวฟ้ารั่ว ลมพายุกระโชกแรงจนน้ำสาดเปียกห้องนอนเกสต์เฮ้าส์บนดอนคอน เมืองโขง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ส่งผลให้เราต้องเปลี่ยนแผนนอนเฝ้า “หลี่”เป็นออกเดินทางแต่เช้าไปดูวิถีชีวิตชาวประมงที่หลี่ปลาสร้อยบนสีพันดอนแทน
“ลูกผู้ชายกับสายน้ำ” เรียกพวกเขาแบบนี้คงไม่ผิดนัก
ทันทีที่ฟ้าสาง ผู้คนต่างมุ่งหน้ายังหลี่มรดกตกทอดของตระกูล ช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นหนึ่งใน 2 เดือนฤดูน้ำหลากที่ปลาใหญ่น้อยทะลักเข้าหลี่ตลอดวัน แต่มากสุดเป็นช่วงกลางคืนต่อเนื่องย่ำรุ่ง
การฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวกรากระดับ 3-5 เพื่อนำปลาจากหลี่มาขึ้นฝั่ง มีความยากง่ายต่างกันไป
จุดยากสุดคือหลี่ลวงที่ตั้งอยู่ใต้น้ำตกหรือใกล้น้ำตก ไม่สามารถใช้เรือไปรับปลาจากคนบนหลี่ได้ ต้องใช้วิธีว่ายฝ่าสายน้ำไปเอา
วันนั้น เราไปถึงหลี่ปลาสร้อยในจังหวะเดียวกับที่ชายหนุ่มผิวคล้ำร่างบึกบึนเดินลุยน้ำไปเอาปลาที่หลี่ใต้น้ำตก เขาใช้เชือกที่สะพายติดตัวมาโยนคล้องราวเชือกที่ขึงกับต้นไม้ใหญ่ฝั่งตรงข้าม จากนั้นทำบ่วงคล้องตัวมิให้หลุดไหลไปตามกระแส ก่อนโผลงสู่สายน้ำเชี่ยวกราก ว่ายผลุบโผล่ย้อนขึ้นด้านบนซึ่งมีหินกองใหญ่ตั้งอยู่ กองหินช่วยบังความแรงของน้ำเอาไว้ จึงฝ่าไปได้ไม่ลำบากนัก ถึงแล้วปีนขึ้นไปรอเพื่อนร้อยพวงปลาโยนข้ามมาจากหลี่ ขากลับก็ใช้วิธีเดิมกับขามา
กล่าวได้ว่า ราวเชือกข้ามสายน้ำคือเซฟตี้เบลท์อย่างดี ความแข็งแรงกล้าแกร่ง คือใบการันตีชีวิตคนอยู่กับหลี่
ยากปานกลางคือหลี่ท้ายน้ำตก ซึ่งเป็นช่วงที่ลำน้ำบานออกแล้ว ความเชี่ยวกรากระดับ 2-3 ชาวประมงจะใช้เรือหางยาวออกไปเก็บปลาที่หลี่ พวกเขามีเทคนิคนำเรือเข้า-ออกฝั่ง หัวใจอยู่ตรงการคำนวณตำแหน่งที่จะให้เรือพุ่งไปข้างหน้า การควบคุมหางเรือ กับกระแสน้ำ ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กันจึงจะทำให้เรือไปจอดเทียบข้างหลี่พอดี ไม่หลุดเลยไหลไปจนต้องทวนน้ำกลับมาให้เสียเวลา
เราเฝ้าดูพวกเขาทำแบบนั้นอยู่หลายรอบ เริ่มจากจุดที่หัวเรือพุ่งไปจนถึงจุดที่กระแสน้ำพัดแล้ววาดเรือเข้าหาหลี่ และจุดที่กระแสน้ำตีเรือเข้าหาฝั่ง
ทุกขั้นตอนนำปลาจากหลี่เข้าฝั่ง เป๊ะไปหมดจนดูเหมือนง่าย แต่แท้จริงแล้ว พวกเขาทำอย่างนั้นมาเป็นพันเป็นหมื่นครั้งจนร่างกายและจิตใจกลายเป็นส่วนหนึ่งของสายน้ำไปแล้ว
ง่ายสุดคือหลี่หลังเล็กในช่องแคบ เจ้าของสร้างสะพานไม้ไผ่จากฝั่งเดินข้ามไปเก็บปลาแบบชิวๆ
ปลาใหญ่มักเข้าหลี่กลางดึก แต่ด้วยความมืดมาก การฝ่ากระแสน้ำไปเก็บปลามันไม่คุ้มเสี่ยง ทุกเจ้าจึงสร้างที่พักเฝ้าข้างหลี่ของตน เพื่อสะดวกต่อการทำงานทันทีที่ฟ้าสว่างตอนรุ่งสาง
เดิมที ผมเข้าใจมาตลอดว่า ในฤดูจับปลา ปลาจะว่ายตามกระแสน้ำไปเข้าหลี่ แต่แท้จริงแล้วเป็นการเข้าใจผิด
ผู้รู้เรื่องปลาน้ำโขงระบุว่า ธรรมชาติของปลาที่ว่ายลงไปเติบโตถึงโตนเลสาบ กัมพูชา หรือเวียดนามในช่วงหน้าแล้ง เมื่อย่างเข้าฤดูฝน ราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน น้ำในแม่น้ำโขงเริ่มเพิ่มระดับขึ้น กระแสน้ำแรงขึ้น ปลาส่วนใหญ่จะว่ายทวนน้ำเพื่ออพยพขึ้นสู่ตอนบนไปจนถึงช่วงเดือนสิงหาคม ผ่านช่องทางน้ำหรือ “ฮูน้ำ” ระหว่างดอนต่างๆบริเวณสีพันดอน ขึ้นสู่แหล่งวางไข่และแพร่พันธุ์ยังที่ราบน้ำท่วมถึงทางตอนเหนือของไทย ลาว หรือตอนใต้ของจีน เมื่อเจอน้ำตก เจอกำแพงหินขวางหน้า มันจะโดดโจนข้ามไป หมดแรงโดดไม่พ้นก็โดนแรงน้ำตีเข้าหลี่
บรรพบุรุษชาวสีพันดอนใช้ภูมิปัญญาคิดค้นหลี่ และเลือกชัยภูมิติดตั้งดักทางอพยพของปลาอย่างเหมาะสมมานานเป็นร้อยปี ไม่มีใครย้ายไปหาที่ใหม่ เพราะนอกจากเสี่ยงได้ปลาน้อยแล้ว ทางการลาวยังห้ามโยกย้าย ห้ามเพิ่ม มีแต่จะให้ลด
เรายังซ้อนมอเตอร์ไซด์จากหัวดอนสะดำไปดูบริเวณสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ที่นี่มีหลี่หลายรวง แม้ไปถึงตอนใกล้เที่ยง แต่ชาวบ้านยังคงนำปลาขึ้นมาไม่ขาดสาย ใหญ่บ้างเล็กบ้าง มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่จังหวะบวกโชค
ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้รับการแจ้งเตือนจากทางการให้เลิกทำหลี่ในดอนสะโฮงและดอนสะดำภายใน 1 ปี เตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตดั้งเดิมสู่งานรับจ้าง บริการ ฯลฯ เมื่อมีเขื่อนเกิดขึ้น
ทำไมต้องเขื่อนดอนสะโฮง?
สอบถามผู้รู้ได้ความว่า สหรัฐอเมริกาศึกษาอย่างหยาบว่าพื้นที่นี้เหมาะสม โดยไม่มีข้อมูลสนับสนุนในรายละเอียด ทว่าทางการลาวยึดถืออย่างเอาเป็นเอาตายว่าจะต้องสร้างที่นี่ให้ได้ โดยไม่ฟังเสียงทัดทานของผู้ใด
ทั้งๆที่ ฮูสะโฮงซึ่งตั้งอยู่ระหว่างดอนสะโฮงกับดอนสะดำ เป็นช่องทางเดียวที่ปลาว่ายเข้าออกได้ตลอดปี เนื่องจากมีน้ำไหลทั้งปี มีขนาดกว้างที่สุด ท้องน้ำไม่สูงชันมากนัก ต่างจากช่องเหวลึกหรือน้ำตกใหญ่ มีระดับสูงหลายชั้น เช่น คอนพะเพ็ง และหลี่ผี ฯลฯ จะมีน้ำไหลผ่านเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น ปลาจึงไม่สามารถผ่านไปได้
“เขื่อนมาปลาหมด”คนโขงเจียมพูดเหมือนคนดอนสะดำโดยมิได้นัดหมาย
ทีมสื่อมวลชนมาเยือนสีพันดอนเป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกมาดูวังสงวน แหล่งเพาะพันธุ์ในช่วงก่อนฤดูน้ำหลาก รอบนี้มาสัมผัสวิถีชีวิตชาวประมงฤดูจับปลา ก่อนจะสูญหายไปในอนาคตอันใกล้
นักท่องเที่ยวมาสีพันดอนย่อมต้องพูดถึงน้ำตกคอนพะเพ็ง และหลี่ผี แต่ใครจะรู้บ้างว่า ที่นี่ยังมี Unseen อีกแห่งหนึ่งที่สวยงามไม่แพ้กัน
คนที่นี่เรียกมันว่า “ถ้ำแดง” บ้าง “น้ำตก 3 คอน”บ้าง เนื่องจากเป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงไหลจากคอนฝั่ง คอนขาม และคอนหลงมาบรรจบกันเป็นผืนน้ำตกหน้ากว้างไม่แพ้คอนพะเพ็ง แต่ไม่คำรามลั่นครืนเหมือน ดูภาพถ่ายดาวเทียมจะอยู่เหนือหลี่ผีออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 8-9 กิโลเมตร
ยืนถ่ายรูปบนเกาะเล็กๆหน้าน้ำตก 3 คอน บางมุมจะเห็นเป็นแผ่นน้ำเส้นตรงลากตัดขอบฟ้า ดูแปลกตาไปจากที่เราเคยเห็นคอนพะเพ็ง และหลี่ผี เพราะที่นั่นเรายืนมองอยู่จากด้านบน แต่ที่นี่เรายืนมองอยู่ด้านหน้าและในจุดต่ำกว่า เป็นมุมมองใหม่ที่ไม่ควรพลาดถ้ามีโอกาสมาสีพันดอน
วิถีหลี่ ชีวิตคนเมืองโขง และธรรมชาติอันวิจิตรตระการบนสีพันดอนจะเปลี่ยนไปแน่นอน หลังเกิดเขื่อนมากมายตลอดแม่น้ำโขง
————————–
ภาคภูมิ ป้องภัย
มติชน 18 กค 57
————————–
ภาคภูมิ ป้องภัย
มติชน 18 กค 57